top of page

TRANSPLANT

ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ

ขอบเขตความรับผิดชอบของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ แผนกโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ศูนย์ไต 3D ฝั่งทางเข้าด้านข้าง.jpg

จัดให้มีการเรียนการสอนสำหรับแพทย์ พยาบาล นักศึกษาเภสัชกร

นักศึกษาทันตแพทย์ และนักกำหนดอาหาร

บริการตรวจผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไต และหลังปลูกถ่ายไต ทุกวันพฤหัสบดี

เวลา 13.00 - 15.30 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา
บริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยไตเรื้อรังและญาติก่อนปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต

Transplant_2520brochure 13072008-2.jpg

การปลูกถ่ายไต คือ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการผ่าตัดเอาไตจากบุคคลหนึ่งไปใส่ให้กับอีกบุคคลหนึ่ง โดยจะผ่าตัดใส่ไตใหม่บริเวณใต้ผิวหนังตรงท้องน้อย ปัจจุบันถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากถ้าไตใหม่ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว สามารถทดแทนไตเดิมได้สมบูรณ์ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น รวมทั้งอายุที่ยืนยาวกว่าการรักษาทดแทนไตโดยวิธีอื่น

ใครที่ปลูกถ่ายไตไม่ได้

1.  อายุมากกว่า 60 ปี

2.  ขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง เช่น รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ไม่มาพบแพทย์ตามที่นัด

3.  ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด โรคจิตเภท

4.  ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด

5.  การติดเชื้อไวรัสที่มีอาการรุนแรง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบชนิด บี - ซี, โรคไวรัสเอดส์

6.  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเดิม เช่น เบาหวานระยะลุกลาม โรคตับอักเสบระยะรุนแรง โรคหัวใจล้มเหลวระยะ

      รุนแรง แผลในกระเพาะอาหารระยะรุนแรง ตับอ่อนอักเสบ โรคเอสแอลอีระยะรุนแรงกำเริบอยู่ มะเร็งระยะ

      ลุกลาม

7.  ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่ยังแก้ไขไม่ได้

ขั้นตอนของผู้ป่วยในการรอการปลูกถ่ายไต

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซักประวัติตรวจร่างกาย ตรวจทางหัวใจ ตรวจสภาพจิตใจ

  1. พบแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เพื่อสัมภาษณ์และประเมินความพร้อมทางด้านเศรษฐานะ สังคม อารมณ์ และจิตใจ

  2. ตรวจสุขภาพช่องปาก โดยทันตแพทย์

  3. เจาะเลือดตรวจหน้าที่ของไต, ตับ, ตับอักเสบ บี-ซี, ซิฟิลิส และเอช ไอ วี

  4. การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนปลูกถ่ายไต เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ การตรวจภาพสะท้อนหัวใจ เป็นต้น

  5. ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA Matching)

  6. การลงทะเบียนรอ (Waiting list) รับไตบริจาค

  7. ส่งเลือดตรวจทุก 1 เดือน (ตรวจหาภูมิคุ้มกัน) และตรวจร่างกายทุก 2-3 เดือน

  8. การลงทะเบียนรอรับไตบริจาค พร้อมรับการปลูกถ่ายไต (Active waiting list)

การเตรียมตัวก่อนการปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ระหว่างที่รอการปลูกถ่ายไตต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะอาจได้รับไตบริจาคเมื่อใดก็ได้ ความพร้อมทางร่างกายนั้นต้องตรวจเช็คอวัยวะทุกระบบในตัวว่าแข็งแรงพอที่จะทนการผ่าตัดได้หรือไม่ และสามารถรับการรักษาด้วยยากดภูมิต้านทานได้

การตรวจอะไรบ้าง ควรทำในระหว่างการรอปลูกถ่ายไต

ระบบต่างๆ ของร่างกายที่ต้องตรวจเช็ค คือ ระบบหัวใจ ตับ ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบเส้นเลือดไต ความดันโลหิต และระบบทางเดินปัสสาวะ

  • เส้นเลือดหัวใจตีบตัน ควรได้รับการรักษาก่อนการปลูกถ่ายไต

  • ไวรัสตับอักเสบชนิด บี-ซี ที่ยังไม่สงบ ควรได้รับการรักษาให้เรียบร้อยก่อน มิฉะนั้นแล้วหลังการปลูกถ่ายไต ไวรัสตับอักเสบอำจกำเริบได้

  • โรคปอด จำเป็นต้องตรวจสมรรถภาพปอดก่อนการปลูกถ่ายไต

  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร เนื้องอกลำไส้ พบจากการส่องกล้องควรรักษาก่อนผ่าตัดเปลี่ยนไต

  • ระบบเลือด ควรได้รับการตรวจการทำงานของเกล็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือด เพราะจะเป็นการป้องกันการเสียเลือดในระหว่างการผ่าตัด

  • การตรวจดูเส้นเลือดของผู้ป่วย มีความจำเป็นในบางรายที่มีสภาพของเส้นเลือดแข็ง และมีแคลเซียมไปเกาะอยู่ที่ผนังเส้นเลือดซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุ และโรคผู้ป่วยเบาหวาน

Transplant_2520brochure 13072008-1.jpg

ผู้รับบริจาคจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ได้ไต

  1. ตรวจสอบว่าได้ส่งข้อมูลผู้รอรับทั้งหมด มาลงทะเบียนไว้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

  2. เตรียมพร้อม เพื่อรับการติดต่อจากพยาบาลผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะตลอด 24 ชั่วโมง เช่น 
    -  ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ที่เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อได้สะดวก 24 ชั่วโมง หรือให้เบอร์โทรศัพท์ที่มีผู้รอรับอยู่เป็นประจำ เช่น บ้าน ที่ทำงาน ญาติ
        เพื่อนที่ใกล้ชิด

    -  กรณีเดินทางไปต่างจังหวัด ควรให้เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวก 24 ชั่วโมง

  3. พบแพทย์ตามนัด หากมีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์โดยทันที

  4. ส่งเลือดทุกเดือน เพื่อตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ

  5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงไม่ไปสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  6. เตรียมค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไต

สาเหตุของไตเสื่อมหลังการปลูกถ่ายไต

  • การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ เกิดการสลัดไต

  • โรคไตของผู้ป่วยกำเริบ

  • การสลัดไตแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง

  • การติดเชื้อภายในไต

  • ปัจจัยเสี่ยงต่อไตเสื่อมอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

แผนกโรคไต อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ชั้น4 โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า 315 ถ.ราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

bottom of page